Updated: Mar 5, 2020

ในครั้งนี้เราจะมาเปรียบเทียบ 2 แพลตฟอร์ม P2P Lending ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งก็คือ Lending Club และ Prosper ซึ่งทั้งคู่เป็นแพลตฟอร์ม P2P Lending เจ้าแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เราจะมาลองดูกันว่าแพลตฟอร์ม P2P Lending ใหญ่ ๆ นั้น เขาจะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
LENDING CLUB

Lending Club คือแพลตฟอร์ม P2P Lending ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากประเทศอเมริกา ที่เปิดตัวในช่วงกลางปี 2007 สินเชื่อของ Lending Club นั้นมีหลากหลายประเภท เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น อีกทั้งการกู้ยืมสินเชื่อผ่าน Lending Club ยังทำได้ทั้งกู้เดี่ยวและกู้ร่วมอีกด้วย ดังนั้นการคัดเลือกผู้กู้และพิจารณาของ Lending Club นั้นขึ้นชื่อเรื่องความละเอียดและเข้มงวด ปัจจุบันสินเชื่อทั้งหมดที่ได้รับเงินผ่านแพลตฟอร์มของ Lending Club มีมูลค่าสูงถึง 53,722 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดถึง 71.9%* ของประเทศอเมริกาเลย
PROSPER

PROSPER คือ แพลตฟอร์ม P2P Lending สัญชาติอเมริกาเช่นกันที่ใหญ่รองลงมาจาก Lending Club Prosper เปิดตัวไปเมื่อปี 2005 เป็นเจ้าแรกในตลาด P2P Lending ของอเมริกา ผลิตภัณฑ์หลักของ Prosper คือสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งในสินเชื่อส่วนบุคคลนี้ก็จะมีการแบ่งประเภทแยกย่อยลงไปอีกตามจุดประสงค์ของการกู้ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ นอกจากนั้น Prosper ยังมีระบบพิจารณาสินเชื่อของตัวเอง หรือที่เรียกว่า PROSPER Rating อีกด้วย ผลจากการเป็นเจ้าแรกในตลาดทำให้ Prosper ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จนถึงปัจจุบันสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มของ PROSPER ทั้งหมดมีมูลค่าถึง 16,137 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนตลาดถึง 21.6%* ของประเทศอเมริกา
* Data updated on 31 Jan 2020
LENDING CLUB VS PROSPER
1. ข้อได้เปรียบสำหรับทั้ง Lending Club และ PROSPER
สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อได้เปรียบสำหรับทั้ง 2 แพลตฟอร์ม คือ ความพร้อมของข้อมูลย้อนหลังและข้อมูลปัจจุบัน เนื่องจากทั้ง Lending Club และ PROSPER เป็นแพลตฟอร์มที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ทำให้มีฟังก์ชั่นที่พร้อมรองรับให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ จึงเป็นจุดที่น่าสนใจและสามารถดึงดูดนักลงทุนได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ความหลากหลายทางด้านผลิตภัณฑ์สินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าสถาบันการเงินทั่วไป ยังถือเป็นอีกข้อได้เปรียบอย่างนึงที่ทำให้ผู้กู้และนักลงทุนรายย่อยได้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ มากขึ้น
2. ข้อเปรียบเทียบระหว่าง Lending Club และ PROSPER ในมุมของการกู้ยืมสินเชื่อ

จากตารางข้างบนจะสังเกตเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยของทั้ง 2 แพลตฟอร์มนั้นไล่เรี่ยกันมาก แต่ถึงอย่างนั้นทั้ง 2 แพลตฟอร์มก็ยังมีความแตกต่างกันในเรื่องของเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาสินเชื่ออยู่พอสมควร ทำให้ถึงแม้ว่า จะกู้เงินจำนวนเท่ากัน เลือกเงื่อนไขเหมือนกัน แต่อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากทั้ง 2 แพลตฟอร์มอาจจะไม่เท่ากัน
2.1 ปัจจัยการพิจารณาสินเชื่อสำหรับผู้กู้และอัตราดอกเบี้ย
FICO Score - Lending Club และ PROSPER ใช้ FICO Score (คะแนนเครดิตของอเมริกา) เหมือนกัน ซึ่งคนทั่วไปก็สามารถขอดูคะแนน FICO Score ของตัวเองได้ โดยจะมีค่าธรรมเนียมเริ่มต้นที่ $19.95 โดย Lending Club กำหนดคะแนน FICO score สำหรับผู้กู้ไว้ที่ 600 คะแนนขึ้นไป ในขณะที่ PROSPER จะเข้มงวดกว่า กำหนดไว้ที่ 640 คะแนนขึ้นไป
ประวัติเครดิตย้อนหลัง - Lending Club มีการขอประวัติเครดิตย้อนหลังของผู้กู้เป็นเวลา 3 ปีเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ แต่ในขณะที่ PROSPER ไม่ได้เรียกขอเอกสารตรงส่วนนี้ ซึ่งอาจะเป็นเหตุผลว่าทำไม PROSPER ถึงต้องกำหนดคะแนน FICO Score ไว้สูงกว่า
อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ - ทั้ง 2 แพลตฟอร์มมีการคำนวณอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ของผู้กู้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้กู้มีความสามารถเพียงพอในการช้ำระหนี้คืน โดย Lending Club กำหนดค่าสูงสุดไว้ที่ 40% แต่ PROSPER กำหนดค่าไว้ที่ 50% จะเห็นได้ว่าปัจจัยนี้ของ Lending Club จะเข้มงวดกว่า
ทั้ง 2 แพลตฟอร์มจะนำปัจจัยทั้งหมดข้างต้นไปคิด วิเคราะห์ และส่งผลออกมาเป็นเกรดของเครดิตของผู้กู้นั้น ๆ โดยที่ PROSPER จะแบ่งเกรดของเครดิตออกเป็นเกรด AA - HR ในขณะที่ Lending Club ที่แบ่งเป็น A1 - G5 ตามรูปภาพข้างล่าง
ตารางระดับเกรดของเครดิตและอัตราดอกเบี้ยของ Lending Club

(ที่มา: lending club)
ตารางระดับเกรดของเครดิตและอัตราดอกเบี้ยของ PROSPER

(ที่มา: the credit solution program)
ส่วนค่าธรรมเนียมของทั้ง Lending Club และ PROSPER จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเครดิตของผู้กู้ด้วยเช่นกัน หากผู้กู้มีคุณภาพเครดิตที่ดี ค่าธรรมเนียมก็จะถูก ซึ่งในส่วนนี้ Lending Club จะคิดค่าธรรมเนียมของผู้กู้ที่มีเครดิตดีถูกกว่าเริ่มต้นที่ 1.0% ต่อปี แต่แพงกว่าสำหรับผู้กู้ที่มีเครดิตไม่ดี โดยค่าธรรมเนียมจะสูงถึง 6.0% ต่อปี ส่วน Prosper จะอยู่ระหว่าง 2.4% - 5.0% ต่อปี
3. ข้อเปรียบเทียบระหว่าง Lending Club และ PROSPER ในมุมของการลงทุน

3.1 ผลตอบแทนและปัจจัยประกอบการลงทุนของนักลงทุน
ขั้นต่ำการลงทุนต่อสัญญา - ทั้ง 2 แพลตฟอร์มกำหนดการลงทุนขั้นต่ำต่อสัญญาที่ $25 ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นการป้องกันไม่ให้มีนักลงทุนใน 1 สัญญามากเกินไปจนยากแก่การจัดการ ในขณะเดียวกันนักลงทุนก็ยังสามารถกระจายความเสี่ยงได้อยู่
ขั้นต่ำเงินคงบัญชีสำหรับการลงทุน - ฝั่งของ Lending Club ได้กำหนดเงื่อนไขเงินคงบัญชีขั้นต่ำที่ $1000 ในขณะที่ PROSPER ไม่มีกำหนดขั้นต่ำ ซึ่งถ้ามองประกอบกับคุณสมบัติของนักลงทุนที่ต้องมีฐานะดีในระดับหนึ่งแล้ว การที่มีหรือไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำตรงนี้อาจจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
อัตราผลตอบแทน (หลังจากหักหนี้เสีย) - ผลตอบแทนที่คาดหวังของทั้ง 2 แพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไปตามระดับเครดิตของสินเชื่อที่ลงทุน เนื่องจากทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้นำเสนอสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก จึงมีความเสี่ยงในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นๆ ถ้าทุกคนลองสังเกตดูจะเห็นว่าผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องชำระค่อนข้างมาก เช่น ผู้กู้ในระดับ G ของ Lending Club อาจเสียดอกเบี้ยที่สูงถึง 30.99% แต่จากสถิติ ผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับเหลือแค่ 3.17% เท่านั้นเอง นั่นก็เป็นเพราะโอกาสที่จะเกิดหนี้เสียกับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ระดับเครดิตต่ำนั้นสูงมาก ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน โดยแพลตฟอร์มของทั้งคู่จะมีข้อมูลทางสถิติของผลตอบแทนไว้ให้ลองศึกษาอยู่
คุณสมบัตินักลงทุน - ทั้ง 2 แพลตฟอร์มมีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของนักลงทุนไว้เหมือนกัน คือจะต้องมีรายได้ต่อปีและมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งหมดสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่ง PROSPER กำหนดเกณฑ์รายได้และมูลค่าสินทรัพย์ไว้สูงกว่า Lending Club เล็กน้อย ทั้งนี้ก็เพราะการลงทุนในสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นค่อยข้างเสี่ยง ทำให้ในกรณีที่เกิดหนี้เสียอาจส่งผลร้ายแรงแก่นักลงทุนรายย่อย ทำให้ทั้งตัวกฎหมายและแพลตฟอร์มเองต้องคัดกรองนักลงทุนที่มีฐานะทางการเงินที่ดี
ค่าธรรมเนียม - ค่าธรรมเนียมจะมี 2 ส่วน ได้แก่
1. ค่าธรรมเนียมการจัดการ โดยทั้ง 2 แพลตฟอร์มคิดอัตราเท่ากันที่ 1% ของมูลค่าสินเชื่อ ซึ่งจะชำระเมื่อจับคู่สำเร็จ
2. ค่าธรรมเนียมบัญชี ฝั่ง Lending Club จะมีค่าธรรมเนียมบัญชีด้วย โดยนักลงทุนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมบัญชีประจำปีจำนวน $100 ในกรณีที่เงินในบัญชีต่ำกว่า $5,000 ในปีแรก หรือ $10,000 ในปีถัดๆ ไป
จากการเปรียบเทียบทั้งหมดข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าทั้ง Lending Club และ PROSPER เป็น 2 แพลตฟอร์มที่มีการแข่งขันกันอย่างสูสีทั้งในด้านประเภทของผลิตภัณฑ์สินเชื่อ รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนสำหรับทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ แต่อย่างไรก็ตาม ดังนั้นผู้ใช้บริการอย่างเรา หากจะต้องตัดสินใจเลือกแพลตฟอร์มที่จะขอสินเชื่อ ก็ควรที่จะเข้าไปศึกษาและทดลองใช้งานแพลตฟอร์มให้หลากหลาย เพื่อดูรายละเอียดและดูเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อประกอบการตัดสินใจ และในขณะเดียวกัน ในฝั่งของนักลงทุนก็ควรศึกษารูปแบบของสินเชื่อและผลตอบแทนจากแต่ละแพลตฟอร์ม และทดลองลงทุนจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อป้องกันความเสี่ยงและใช้แพลตฟอร์มให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเรา
ที่มา :
https://p2pmarketdata.com/p2p-lending-funding-volume-usa
https://www.doughroller.net/reviews/prosper-review/
https://www.doughroller.net/reviews/lendingclub-review/
https://www.lendingclub.com/info/demand-and-credit-profile.action
https://www.prosper.com/invest#sup-2
https://prosper.zendesk.com/hc/en-us/articles/210013593-Who-can-invest-on-Prosper-