Executives' Voice : ทางเลือกใหม่ของบริการทางการเงินกับ FinTech ในเอเชีย

ทางเลือกใหม่ของบริการทางการเงินกับ FinTech ในเอเชีย
เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ที่จัดโดย CLSA บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของเอเชีย ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีให้กับลูกค้าของบริษัทในภูมิภาค ASEAN นี้ ปกติจะเป็น Event ใหญ่ เชิญนักลงทุนทั่วภูมิภาค และวิทยากรรับเชิญมากหน้าหลายตา รวมกันหลายร้อยชีวิต
ปีนี้ธีมของงานคือ ‘Digitalising ASEAN’ เป็นเรื่องของเทรนด์การพัฒนาที่ฮอตที่สุดในตอนนี้คือ การทำ Digital Transformation และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละอุตสาหกรรม
โดยผมได้รับเชิญเข้าร่วมสัมมนากับกลุ่ม FinTech โดยได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะกับ Fintech ในภูมิภาคอีก 4 ราย ซึ่งมาจากหลายประเทศ ทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยมีผมเป็นตัวแทนจากประเทศไทย
ผู้เข้าร่วมสัมมนาแบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจใหญ่ ๆ ด้วยกัน
1. Payment Platform หรือ แพลตฟอร์มเพื่อการทำธุรกรรมทางการเงิน
แพลตฟอร์มประเภทนี้มักได้รับความนิยมและเติบโตได้เร็วมากในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินพื้นฐาน ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากภูมิประเทศที่ทำให้การให้บริการจากระบบธนาคารทั่วไปเข้าไปไม่ถึง เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย
บริการของแพลตฟอร์มแบบนี้จึงถูกออกแบบมาเพื่อให้คนในท้องถิ่นที่ไกลจากตัวเมือง เข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวก ผ่านช่องทาง Mobile Application
2. Peer-to-Peer Lending Platform หรือ แพลตฟอร์มการให้กู้ยืม
แพลตฟอร์มประเภทนี้ เข้ามาจัดการกับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของกลุ่มลูกค้าบางกลุ่ม NestiFly เป็นหนึ่งในธุรกิจประเภทนี้ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดช่องว่างของบริการทางการเงินที่ไม่ตอบสนองกับข้อจำกัด หรือ ความต้องการของลูกค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม SMEs
3. Wealth Management Platform หรือ แพลตฟอร์มบริหารการลงทุน
แพลตฟอร์มทางเลือกในการลงทุน เป็นทางเลือกของการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเน้นความสะดวก และประสิทธิภาพในการลงทุน และผลตอบแทนที่ใกล้เคียงหรือดีกว่าเมื่อเทียบกับบริการบริหารการลงทุนที่สถาบันการเงินนำเสนอในปัจจุบัน
จากการร่วมสัมมนาครั้งนี้ ทำให้ผมได้ข้อสรุปถึงพัฒนาการของ FinTech ในภูมิภาค ASEAN ดังนี้
Singapore เป็นตลาดที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในทุกประเภท แต่มีข้อจำกัดคือตลาดเล็ก แต่มีกฎระเบียบที่ผ่อนคลาย ยืดหยุ่น จึงเหมาะกับการเป็นห้องทดลองของ FinTech ของภูมิภาค
Indonesia เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน มีประชากรมากถึงกว่า 200 ล้านคน และเป็นตลาดที่คนในประเทศเข้าถึงบริการพื้นฐานทางการเงินน้อย (underbanked) จึงก่อให้เกิด Platform ใหญ่ ๆ มากมาย เช่น Gojek รวมทั้ง FinTech รายที่เข้าร่วมสัมมนาด้วย พัฒนาการของตลาดไปไกลมาก เนื่องจากมีตลาดใหญ่รองรับ
Philippines ตลาดใหญ่กว่าไทยไม่มาก แต่การเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานยังไม่ทั่วถึงเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย กฎระเบียบก็เปิดกว้างมากกว่าไทย ตลาดจึงเติบโตได้รวดเร็วมาก
Thailand ถ้าจะเปรียบเทียบต้องเทียบกับมาเลเซีย เนื่องจากมีปัจจัยหลาย ๆ ด้านที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดของตลาด การเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐาน แต่ดูเหมือนกฎระเบียบของมาเลเซียจะยืดหยุ่นกว่าเล็กน้อย
ขณะที่ธนาคารในประเทศไทยปรับตัวกับทิศทางใหม่ได้เร็วมาก เร็วกว่าแทบจะทุกประเทศ มีการจับมือกับแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น Grab Line Lazada ดังนั้น FinTech ในเมืองไทยจึงเหมาะกับผู้ให้บริการที่มีลักษณะเฉพาะเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มอะไร ให้บริการในประเทศที่แตกต่างกัน
ข้อสรุปที่เห็นตรงกันก็คือ การให้บริการทางการเงินเป็นเรื่องของ Trust ผู้ให้บริการต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ได้ เพราะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยิ่งเป็น Startup ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่คนยังไม่คุ้นชินด้วยแล้ว ยิ่งต้องสร้างมาตรฐานให้สูง ไม่มีแต้มต่อในเรื่องความปลอดภัยของระบบ หรือมาตรฐานการให้บริการ
คุณปพนธ์ มังคละธนะกุล
Founder and CEO NestiFly
พฤษภาคม 2564