top of page

มาทำความรู้จักกับ Peer-to-Peer Lending กันเถอะ | ตอนที่ 4



โมเดลการทำงานของแพลต์ฟอร์ม Peer-to-Peer Lending


หลังจากครั้งที่แล้ว เราได้เล่าประเภทของสินเชื่อและขั้นตอนการทำงานในฝั่งหน้าบ้านของแพลตฟอร์ม P2P ไปแล้ว ครั้งนี้เราจะมาดูการทำงานในฝั่งหลังบ้านกันบ้าง ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงแต่ว่าแพลตฟอร์มมีหน้าที่จับคู่ผู้กู้กับผู้ให้กู้ แต่การจับคู่อย่างไร แพลตฟอร์ม P2P Lending ทุกรายจับคู่เหมือนกันหมดเลยหรือไม่ มาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันได้ในบทความนี้


โมเดลของ Peer-to-Peer Lending


ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า โมเดลของแพลตฟอร์ม P2P Lending มีเกิดขึ้นมาใหม่มากมาย และแต่ละโมเดลก็มีการดัดแปลงและปรับตัวให้เหมาะสมกับกาลเวลาและบริบทของแพลตฟอร์มนั้น ๆ ดังนั้น วันนี้ NestiFly ได้ทำการรวบรวมและจัดกลุ่มโมเดลหลัก ๆ จนได้เกณฑ์การแบ่งกลุ่มมา 3 เกณฑ์ใหญ่ๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น โดยการแบ่งกลุ่มของโมเดลที่ว่านั้น ใช้หลักเกณฑ์การจัดกลุ่ม ดังนี้


1. แบ่งโดยวิธีการจับคู่สินเชื่อ (Loan Matching Model)

2. แบ่งโดยวิธีการกำหนดดอกเบี้ย (Interest Determination Mechanism)

3. แบ่งโดยวิธีการปล่อยสินเชื่อ (Financing Process)



1. แบ่งโดยวิธีการจับคู่สินเชื่อ (Loan Matching Model)

เกณฑ์นี้จะแบ่งแพลตฟอร์มออกเป็น 2 โมเดลหลัก ๆ ได้แก่ Diffused Model และ Direct Model


1.1 Diffused Model (Auto-Investment)

เป็นโมเดลที่แพลตฟอร์มทำหน้าที่นำเงินของผู้ให้กู้มาจับคู่กับคำขอสินเชื่อของผู้กู้โดยอัตโนมัติ ตามเงื่อนไขที่นักลงทุนได้กำหนดไว้ล่วงหน้า


ข้อดี

- สะดวกสบายและเพิ่มโอกาสในการลงทุนให้แก่ผู้ให้กู้

- ช่วยกระจายความเสี่ยงให้ผู้ให้กู้แบบอัตโนมัติ

- เพิ่มโอกาสในการได้รับเงินของผู้กู้ ไม่ต้องรอผู้ให้กู้แต่ละราย มาเลือกปล่อยกู้ให้


ข้อเสีย

- ผู้ให้กู้ไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะให้หรือไม่ให้กู้เป็นรายคำขอสินเชื่อ (กำหนดเงื่อนไขล่วงหน้าไว้ได้ แต่ถ้าจับคู่ได้เมื่อไหร่ ถือว่าปล่อยกู้ได้เลย)

- ไม่รู้ว่าจะจับคู่และได้ลงทุนเมื่อไหร่ ต้องวางเงินทิ้งไว้ในระบบเพื่อรอจับคู่

- อย่างแพลตฟอร์มของ NestiFly ก็จะใช้โมเดลการจับคู่แบบนี้เช่นเดียวกัน โดยเราจะกำหนดให้นักลงทุนสามารถกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะสะท้อนระดับความเสี่ยงสูงสุดที่ผู้ให้กู้ยอมรับได้ เช่น กลุ่มหุ้นที่สามารถใช้หลักประกัน ระดับ LTV สูงสุดที่ยอมรับได้ ระยะเวลาสูงสุดในการปล่อยกู้และยอดลงทุนสูงสุดต่อสัญญา เมื่อมีคำขอสินเชื่อที่ระดับความเสี่ยงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ระบบก็จะจับคู่ให้ทันทีและเรายังมีดอกเบี้ยขั้นต่ำให้กับเงินของผู้ให้กู้ที่ยังไม่สามารถจับคู่ได้อีกด้วย


1.2 Direct Model

เป็นโมเดลที่ทำงานตรงข้ามกับ Diffused Model โดยโมเดลนี้จะให้นักลงทุนเลือกคำขอสินเชื่อแต่ละคำขอด้วยตนเอง โดยนักลงทุนสามารถพิจารณาและวิเคราะห์ความเสี่ยงของคำขอสินเชื่อได้จากข้อมูลเบื้องต้นที่แพลตฟอร์มเตรียมไว้ให้ เมื่อยืนยันการปล่อยสินเชื่อแล้วแพลตฟอร์มจึงจัดการเรื่องการโอนเงินให้


ข้อดี

- ผู้ให้กู้สามารถเลือกสินเชื่อที่จะปล่อยกู้ได้เองและจัดสรรความเสี่ยงในการลงทุนของตัวเองได้


ข้อเสีย

- ใช้เวลานาน เนื่องจากผู้ให้กู้ต้องวิเคราะห์การลงทุนของตนเอง

- โอกาสในการลงทุนอาจจะลดลง เพราะต้องแข่งขันกับระบบอัตโนมัติและผู้ให้กู้รายอื่นๆ

- สำหรับเกณฑ์นี้ ถ้าจะให้เปรียบเทียบง่ายๆ Auto-Investment นั้นก็จะเหมือนกับการซื้อกองทุนที่เราศึกษาจากนโยบายการลงทุนแต่ละกอง และวางเงินให้ผู้จัดการกองทุนไปคัดเลือกโอกาสการลงทุนมาให้เรา แต่ถ้าเป็น Direct Model ก็จะเหมือนกับการที่เรามานั่งเลือกลงทุนในหุ้นรายตัวนั่นเอง ทั้งนี้ในปัจจุบันก็มีหลายแพลตฟอร์มที่ใช้โมเดลผสมระหว่างทั้ง 2 แบบ ซึ่งก็ช่วยเพิ่มความหลากหลายและเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ใช้บริการ


2. แบ่งโดยวิธีการกำหนดดอกเบี้ย (Interest Determination Mechanism)

เกณฑ์นี้จะแบ่งแพลตฟอร์มออกเป็น 2 โมเดลหลัก ๆ ได้แก่ Auto Matching และ Reverse Auction


2.1 Auto Matching

เป็นโมเดลที่แพลตฟอร์มส่วนใหญ่ทั่วโลกเลือกใช้ โดยโมเดลนี้แพลตฟอร์มจะเป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของผู้กู้รายนั้นๆ และแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่จับคู่คำขอสินเชื่อที่ตรงกับระดับของผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ผู้ให้กู้กำหนดไว้


ข้อดี: คนทั่วไปสามารถอาศัยความชำนาญและเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มในการวิเคราะห์หาดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของคำขอกู้นั้นๆ ได้


ข้อเสีย: ระดับของอัตราดอกเบี้ยอาจมีการแทรกแซงโดยแพลตฟอร์ม ดังนั้น แพลตฟอร์มต้องมีวิธีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนระดับความเสี่ยงได้จริง และเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย


2.2 Reverse Auction

ถ้าใครเคยลงทุนในหุ้นให้ลองนึกถึงการที่คนซื้อและคนขายมาเสนอราคาแล้วถ้าตรงกัน ระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะจับคู่ให้ โมเดลนี้ก็จะทำงานคล้ายๆ กันเพียงแต่ว่าราคาของการกู้เงินจะไม่ใช่ 5 บาท 10 บาท แต่จะเป็นอัตราดอกเบี้ยแทน โดยที่ผู้กู้ก็จะมากำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ตนเองอยากกู้ไว้ และเมื่อผู้ให้กู้แต่ละคนเห็นคำขอกู้ ก็จะมาเสนออัตราดอกเบี้ยที่ตนเองอยากให้กู้ โดยที่แพลตฟอร์มจะจับคู่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดให้ก่อน ดังนั้น ถ้าผู้ใ้ห้กู้เสนออัตราดอกเบี้ยยิ่งต่ำก็จะยิ่งมีโอกาสในการปล่อยกู้ให้กับคำขอสินเชื่อรายนั้นสูงขึ้น


ข้อดี: ดอกเบี้ยเกิดจากอุปสงค์และอุปทานของผู้กู้และผู้ให้กู้เอง แทบจะไม่มีการแทรกแซงจากแพลตฟอร์ม ในทางทฤษฎีแล้ว ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากวิธีจะอยู่ในอัตราที่ทั้ง 2 ฝ่ายพอใจ


ข้อเสีย: ต้องอาศัยความเข้าใจของทั้งฝั่งผู้กู้และผู้ให้กู้เป็นอย่างมาก เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับตนเอง ทำให้ในทางปฏิบัติแล้ว มีโอกาสสูงมากที่ผู้กู้หรือผู้ให้กู้บางกลุ่มจะเสนออัตราดอกเบี้ยที่ไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงของคำขอสินเชื่อนั้น ๆ ซึ่งนี่เป็นข้อเสียที่สำคัญมากทำให้แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Prosper ที่เคยใช้โมเดลนี้ ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นโมเดล Auto Matching ตั้งแต่ปี 2011


3. แบ่งโดยวิธีการปล่อยสินเชื่อ (Financing Process)

โดยเกณฑ์นี้จะแบ่งแพลตฟอร์ม P2P Lending ออกเป็นทั้งหมด 4 แบบ ตามการจัดโครงสร้างของแพลตฟอร์มเพื่อส่งมอบเงินระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ ได้แก่


3.1 Client Segregated Account Model เป็นโมเดลที่แพลตฟอร์มมีหน้าที่เป็นตัวกลางจับคู่ผู้กู้และผู้ให้กู้อย่างเดียว โดยแยกการจัดการเรื่องเงินของทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ออกจากแพลตฟอร์มอย่างชัดเจน


3.2 Notary Model เป็นโมเดลที่แพลตฟอร์มไป partner กับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น ๆ โดยที่แพลตฟอร์มมีหน้าที่เป็นตัวกลางจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ ในขณะที่ธนาคารเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อไปก่อน แล้วจึงนำสินเชื่อเหล่านั้นมาขายต่อให้แก่ผู้ให้กู้


3.3 Guaranteed Return Model โมเดลนี้แพลตฟอร์มจะการันตีอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ผู้ให้กู้จะได้รับ ซึ่งเงินส่วนนี้ แพลตฟอร์มจะได้มาจากการคิดค่าธรรมเนียมกับผู้กู้นั่นเอง โมเดลนี้ใช้กันมากในประเทศจีน เพราะมีจำนวนผู้กู้มากกว่าผู้ให้กู้มาก


3.4 Balance Sheet Model เป็นโมเดลที่แพลตฟอร์มเองจะเป็นคนปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ไปก่อน แล้วจึงนำสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้วมาขายต่อให้กับนักลงทุน

การแบ่งโดยใช้เกณฑ์นี้เป็นข้อมูลเชิงเทคนิคพอสมควร สำหรับใครที่อยากศึกษาเพิ่มเติม สามารถไปอ่านต่อกันได้ที่ลิ้งค์นี้เลย https://scidoc.org/articlepdfs/IJFET/IJFET-02-301.pdf




จากโมเดลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เราจะเห็นได้ว่ารูปแบบการทำงานของแพลตฟอร์ม P2P Lending นั้นมีหลากหลายมาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แพลตฟอร์มส่วนใหญ่ก็มีการปรับหรือนำข้อดีของหลาย ๆ โมเดลมาผสมผสานให้เหมาะกับความต้องการของตลาดหรือกฎระเบียบต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา


เช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วและหลากหลายในปัจจุบัน ผู้ใช้บริการอย่างเราควรศึกษาข้อมูลและข้อดีข้อเสียของแต่ละแพลตฟอร์มให้รอบคอบก่อนเลือกใช้บริการ เพื่อให้ P2P Lending ตอบโจทย์ความต้องการ และสร้างประโยชน์ให้กับเราได้อย่างเต็มที่




ที่มา:



コメント


bottom of page