Peer-to-Peer Lending ทำงานอย่างไร
ความเดิมตอนที่แล้ว... เราได้พูดกันถึง จุดเริ่มต้นของ P2P Lending และ P2P Lending จะเข้ามาสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตเราได้อย่างไรไปแล้ว ในวันนี้เราจะมาลงลึกกันอีกสักนิดและมาดูกันว่า ขั้นตอนการทำงานหลัก ๆ ของแพลตฟอร์ม P2P Lending นั้นมีอะไรบ้าง และจะมีผลกระทบกับทุกคนอย่างไร
1. การสมัครสมาชิกและยืนยันตัวตน (Registration & e-KYC)
ขั้นตอนแรกเลยก็คือการสมัครสมาชิกนั่นเอง แพลตฟอร์ม P2P Lending ส่วนใหญ่ต่างก็พัฒนาระบบให้ผู้กู้และผู้ให้กู้สามารถสมัครสมาชิกได้ง่ายๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน แต่อีกขั้นตอนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กันและจะขาดไปไม่ได้เลยสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงิน นั่นก็คือ การยืนยันตัวตน
การที่เรายกระบบการกู้ยืมเงินกันทั้งหมดขึ้นไปไว้บนแพลตฟอร์มนั้นมีข้อดีคือ ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการที่มีคนมากหน้าหลายตาเข้ามาใช้บริการบนแพลตฟอร์มก็อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยได้ เช่น อาจจะมีผู้ไม่ประสงค์ดีปลอมแปลงตัวตนขึ้นมาเพื่อกู้เงิน ทำให้เราไม่สามารถตามหาตัวคนที่จะมาจ่ายหนี้คืนได้ แต่ได้ยินแบบนี้แล้ว ทุกคนอย่าเพิ่งเป็นกังวลไป เพราะแพลตฟอร์ม P2P Lending ของแต่ละประเทศนั้นจะถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐและต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว ซึ่งอย่างที่ประเทศไทยของเรานั้น แพลตฟอร์ม P2P Lending จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นเอง
ดังนั้น แพลตฟอร์มจะต้องมีหน้าที่ในการออกแบบขั้นตอนการยืนยันตัวตนที่มีมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ใช้บริการทุกคนมีตัวตนอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบเอกสารต่างๆ เช่น บัตรประชาชน พาสปอร์ต หรือ การใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้าหรือสแกนลายนิ้วมือ เพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น ถ้าทุกคนลองนึกถึงตอนที่เราสมัครใช้บริการแอปพลิเคชั่น e-wallet ต่าง ๆ ดู ก็จะมีขั้นตอนที่คล้าย ๆ กันอยู่ โดยแต่ละแพลตฟอร์มก็จะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อทำให้การยืนยันตัวตนนั้นสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
เมื่อผ่านกระบวนการยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว ทั้งผู้ใช้บริการก็จะสามารถเริ่มขอกู้หรือลงทุนบนแพลตฟอร์มได้ โดยในกรณีทั่วไปแล้ว ผู้กู้จะเป็นฝ่ายส่งคำขอกู้เข้ามาในแพลตฟอร์มก่อน แล้วผู้ให้กู้จะเป็นฝ่ายที่มาคัดเลือกว่าตนเองอยากลงทุนในคำขอกู้อันไหน
2. ผู้กู้สร้างคำขอกู้ (Loan Request)
ในขั้นตอนการสร้างคำขอกู้ ผู้กู้จะสามารถกำหนดเงื่อนไขหลัก ๆ ของการกู้ยืมได้ เช่น จำนวนเงิน ระยะเวลา หรือ หลักประกัน เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตัวเอง แต่โดยส่วนมากแล้วแพลตฟอร์มจะเป็นคนกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ตามระดับความเสี่ยงของคำขอกู้นั้น ๆ ซึ่งผู้กู้จะสามารถเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ตนเองได้รับก่อนยื่นคำขอกู้เข้าไปในแพลตฟอร์ม
ในส่วนของเอกสารที่ผู้กู้ต้องเตรียมนั้นก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อและขั้นตอนการอนุมัติของแต่ละแพลตฟอร์ม ตัวอย่างเช่นถ้าเป็นสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกัน ขั้นตอนนี้ก็จะพิจารณาจากฐานะทางการเงินหรือประวัติการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก หรือถ้าเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น บ้าน รถยนต์ หรือหลักทรัพย์ต่าง ๆ ก็จะต้องมีขั้นตอนในการตรวจสอบหลักประกันร่วมด้วย ซึ่งการมีหลักประกันนั้นก็จะช่วยทำให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง หลังจากส่งคำขอกู้เรียบร้อยแล้ว แพลตฟอร์มก็จะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารต่าง ๆ และอนุมัติให้คำขอนั้นเข้าไปอยู่ในระบบเพื่อรอเงินทุนจากผู้ปล่อยกู้
3. ผู้ให้กู้เลือกลงทุน (Loan Selection or Criteria Setting)
ในฝั่งผู้ให้กู้นั้นก็จะต้องเลือกหรือกำหนดเงื่อนไขการปล่อยกู้ให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ซึ่งในแต่ละแพลตฟอร์ม ผู้ให้กู้ก็จะสามารถเลือกเงื่อนไขต่างๆ ได้แตกต่างกันออกไป บางแพลตฟอร์ม ผู้ให้กู้อาจจะเลือกปล่อยกู้ผ่านการกำหนดกรอบของเงื่อนไข เช่น ฉันจะปล่อยกู้ใ้ห้แค่ผู้กู้ที่มีคะแนนเครดิตสูงกว่าเกรด B ขึ้นไปเท่านั้น หรือฉันจะปล่อยกู้แค่ระหว่าง 1 - 3 ปี ฉันจะปล่อยกู้ไม่เกินสัญญาละ 10,000 บาท เป็นต้น หลังจากนั้นแพลตฟอร์มก็จะจับคู่คำขอกู้มาให้โดยอัตโนมัติ หรือบางแพลตฟอร์ม ผู้กู้อาจจะสามารถเลือกหาได้ถึงระดับคำขอกู้แต่ละคำขอเลยว่า อยากปล่อยกู้ให้ใคร ซึ่งความละเอียดในการกำหนดเงื่อนไขการลงทุนต่าง ๆ ได้มากหรือน้อยก็จะมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ NestiFly จะนำมาวิเคราะห์และเล่าให้ฟังในตอนถัด ๆ ไปด้วย
ผู้กู้ทั้งหลายที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็อย่าเพิ่งกลัวว่าข้อมูลส่วนตัวเราจะถูกเปิดเผยอยู่บนแพลตฟอร์ม เพราะผู้ให้กู้จะเห็นเพียงแค่เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เราส่งคำขอกู้ไป เพื่อให้ผู้ให้กู้สามารถวิเคราะห์ถึงระดับความเสี่ยงของคำขอกู้ของเราได้เท่านั้นเอง และตัวแพลตฟอร์มเองก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่แล้วเช่นกัน
จากภาพด้านบนจะเป็นภาพตัวอย่างของคำขอกู้จากแพลตฟอร์ม Mintos ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม P2P Lending ที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทุกคนจะเห็นได้ว่าผู้ให้กู้จะสามารถเห็นแค่เงื่อนไขการกู้ยืม เช่น ประเภทสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา ส่วนข้อมูลส่วนตัวของผู้กู้ก็จะแสดงแค่ เพศ อายุ อาชีพ และประเทศที่อยู่อาศัยเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ให้ทุกคนหมดห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวไปได้เลย
4. การสร้างสัญญากู้ยืมเงิน (Contract Activation)
เมื่อคำขอกู้ได้รับการจับคู่และได้รับเงินจากผู้ให้กู้หรือระบบจับคู่เงินลงทุนให้เพียงพอแล้ว ระบบก็จะสร้างสัญญากู้ยืมเงินขึ้นมาในลักษณะของสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถบังคับใช้ได้จริงตามกฎหมาย โดยสัญญาเหล่านั้นก็จะถูกจัดเก็บไว้ในระบบของแพลตฟอร์ม ซึ่งผู้ใช้บริการทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเรียกดูได้ตลอดเวลา สำหรับขั้นตอนนี้ บางแพลตฟอร์มก็มีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เพื่อสร้างและจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งจะยิ่งช่วยให้ผู้ใช้บริการมั่นใจได้ว่าข้อมูลนั้นถูกจัดเก็บไว้อย่างปลอดภัยแน่นอน
5. การจัดการเงิน หลักประกัน และการติดตามดูแล (Cash Facilitation and Monitoring)
นอกจากการที่แพลตฟอร์มทำหน้าที่จับคู่สินเชื่อแล้ว แพลตฟอร์มยังมีหน้าที่ในการดูแลรายการโอนเงินระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ตลอดระยะเวลาของสัญญา รักษาหลักประกัน ตลอดจนติดตามการชำระหนี้คืนให้ครบถ้วน นอกจากนี้บางแพลตฟอร์มอาจจะทำหน้าที่ไปจนถึงการทวงถามหนี้ในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระกันให้ด้วย หรือบางแพลตฟอร์มก็อาจจะ outsource ให้กับบริษัทติดตามหนี้มืออาชีพไปดูแลต่อ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับขั้นตอนการทำงานของแพลตฟอร์ม P2P Lending ทุกคนจะสังเกตเห็นได้ว่าแพลตฟอร์ม P2P Lending ก็เหมือนการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับขั้นตอนการขอสินเชื่อหรือการลงทุนของพวกเรานั่นเอง ทั้งช่วยลดความยุ่งยากของการจัดเตรียมเอกสาร ประหยัดเวลาในการทำธุรกรรม และที่สำคัญยังทำให้ต้นทุนของการกู้ยืมหรือลงทุนถูกลงอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมแพลตฟอร์ม P2P Lending ถึงเป็นที่สนใจและสามารถดึงดูดผู้ใช้บริการใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่องทั่วโลก
ในตอนหน้า เราจะพาไปดูความหลากหลายของสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม P2P Lending ทั่วโลกกัน เพื่อให้ทุกคนได้ลองศึกษาดูว่ามีสินเชื่อหรือโอกาสในการลงทุนแบบไหนที่เหมาะสมกับตัวเองกันบ้าง ใครที่สนใจเรื่องสินเชื่อหรือโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ก็รอติดตามกันได้เลยในบทความถัดไป