top of page

มาทำความรู้จักกับ Peer-to-Peer Lending กันเถอะ | ตอนที่ 3

Updated: Feb 17, 2020



ประเภทสินเชื่อบนแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Lending


หลังจากที่เราได้เล่าเรื่องหลักการทำงานของแพลตฟอร์ม P2P Lending กันไปแล้ว ในครั้งนี้เราจะมาดูประเภทของสินเชื่อต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม P2P Lending กันบ้าง เพราะนอกจากสินเชื่อส่วนบุคคลทั่วไปแล้ว ยังมีการกู้ยืมอีกหลายประเภทที่น่าสนใจจากแพลตฟอร์ม P2P Lending ทั่วโลก ซึ่งจะมีประเภทอะไรบ้าง และผู้ใช้บริการอย่างพวกเราจะเหมาะสมกับสินเชื่อประเภทไหน มาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันได้ในบทความนี้


1. สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan)

สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อที่ผู้กู้จะได้รับเงินก้อนมาเพื่อที่จะเอาไปใช้จ่ายในเรื่องต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ไม่ได้มีการกำหนดจุดประสงค์การใช้เงินนั้นชัดเจน ซึ่งความยืดหยุ่นของจุดประสงค์ในการกู้ยืมนี้เองทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อบนแพลตฟอร์ม P2P Lending ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก


ข้อดีของสินเชื่อส่วนบุคคลก็คือผู้กู้ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน ซึ่งก็แลกมาด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงเช่นกัน แต่ความน่าสนใจของสินเชื่อประเภทนี้บนแพลตฟอร์ม P2P Lending คือ ความสะดวกรวดเร็วและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะการนำเทคโนโลยีมาใช้ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน ทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่านั่นเอง จึงทำให้ในต่างประเทศมีผู้กู้มากมายที่นำขอกู้ผ่านแพลตฟอร์ม P2P เพื่อไปชำระหนี้อื่น ๆ ของตัวเอง เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ และสินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่มีดอกเบี้ยสูง คล้าย ๆ กับการ refinance มาอยู่บนแพลตฟอร์ม P2P Lending นั่นเอง


ผู้กู้ที่ต้องการขอสินเชื่อประเภทนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง? โดยปกติแล้ว แพลตฟอร์ม P2P Lending ในต่างประเทศ ผู้กู้จะต้องมีคะแนนเครดิตมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่แพลตฟอร์มกำหนด เช่น แพลตฟอร์ม Lending Club กำหนดอยู่ที่ 600 คะแนน ทั้งนี้แพลตฟอร์มก็จะดูปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นประวัติการชำระหนี้ ระดับรายได้ ระยะเวลาที่ขอกู้ มูลค่าหนี้ที่มีอยู่แล้ว เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงและกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ผู้กู้แต่ละคนนั่นเอง ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่มีสินเชื่อประเภทนี้ก็เช่น Lending Club, Prosper, Zopa เป็นต้น


2. สินเชื่อมีหลักประกัน (Secured Loan)

หลักประกันที่ใช้กันค่อนข้างมีหลากหลายตามที่แพลตฟอร์มนั้น ๆ กำหนด โดยที่นิยมใช้กันก็จะเป็นอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ เช่น แพลตฟอร์ม Lendinvest ที่จะมีสินเชื่อประเภท property loan ให้ผู้กู้สามารถนำบ้านหรือที่ดินมาวางเป็นหลักประกันได้ แพลตฟอร์ม Auxmoney ที่ผู้กู้สามารถนำรถยนต์ของตัวเองมาวางเป็นหลักประกันได้ หรืออย่างของที่ NestiFly เองกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นอยู่ก็คือการนำหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มาใช้เป็นหลักประกันนั่นเอง

แต่ละแพลตฟอร์มก็จะต้องมีกระบวนการทำงานในการตรวจสอบและประเมินราคาหลักประกันเพิ่มขึ้นมา เพื่อประกอบการพิจารณาเครดิต ข้อดีของสินเชื่อมีหลักประกัน คือ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง เพราะการมีหลักประกันจะช่วยลดความเสี่ยงในการชำระหนี้ให้กับผู้ให้กู้ได้ ดังนั้นสินเชื่อประเภทนี้จึงเหมาะกับผู้กู้ที่มีสินทรัพย์อยู่แล้ว และผู้ให้กู้ที่ชอบความเสี่ยงที่ต่ำกว่า


สำหรับแพลตฟอร์ม NestiFly ของเรานั้น ตัวสินเชื่อ Share Loan หรือสินเชื่อที่ใช้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลักประกันนั้นมีความพิเศษตรงที่ว่าเป็นแพลตฟอร์ม P2P ที่แรกและที่เดียวในโลกที่ผู้กู้สามารถใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันได้ Share Loan จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เปิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับผู้กู้ที่มีการเก็บสะสมหุ้นไว้อยู่แล้ว และผู้ให้กู้ที่สนใจสินเชื่อความเสี่ยงต่ำอีกด้วย


3. สินเชื่อธุรกิจ (Business Loan)

สินเชื่อธุรกิจ คือ สินเชื่อสำหรับผู้กู้ที่มีจุดประสงค์จะนำเงินที่ได้ไปใช้ทำธุรกิจโดยตรง บางครั้งถูกเรียกว่า Peer-to-Business โดยที่ผู้กู้อาจจะเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของธุรกิจก็ได้ สำหรับในประเทศไทยถ้าผู้กู้เป็นนิติบุคคลจะอยู่ภายใต้กฎหมาย debt-based crowdfunding คือ ผู้กู้หรือในทีนี้คือผู้ประกอบการก็จะนำธุรกิจของตัวเองมาขอระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มในรูปแบบของการออกหุ้นกู้นั่นเอง แต่ถ้าผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดาก็จะอยู่ภายใต้กฎหมาย P2P Lending


โดยทั่วไปการกู้ประเภทนี้ผู้กู้จะต้องจดทะเบียนเป็นบริษัท ดำเนินกิจการมาแล้วระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และใช้เอกสารประกอบ เช่น งบการเงิน บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น รายการเดินบัญชีธนาคาร และรายงานเครดิตบูโร ซึ่งบางแพลตฟอร์มอาจขอไปถึงเอกสารของตัวผู้ถือหุ้นเองด้วย หรือทำ site-visit กับผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงของตัวธุรกิจ ส่วนใหญ่แล้วสินเชื่อธุรกิจจะไม่ใช้หลักประกัน แต่อาศัยการค้ำประกันจากกรรมการหรือผู้ถือหุ้นเพื่อป้องกันในกรณีผิดนัดชำระหนี้นั่นเอง แต่แน่นอนว่าเมื่อต้องใช้ข้อมูลมากขึ้น ความเสี่ยงลดลง อัตราดอกเบี้ยก็ถูกลงไปด้วย ซึ่งปกติแล้วสินเชื่อประเภทนี้จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลไปอีก


ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่มีสินเชื่อประเภทนี้ ได้แก่ Funding Circle ที่ช่วยระดมทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กไปถึงขนาดกลาง ซึ่งมีทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน (สินเชื่อที่มีหลักประกันสามารถกู้ได้วงเงินสูงกว่าถึง 1 เท่า) โดยที่ Funding Circle จะคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ รวมค่าธรรมเนียมแล้วอยู่ที่ประมาณ 8.75% - 32.16% ต่อปี ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของผู้กู้


4. สินเชื่อเพื่อการศึกษา (Student Loan)

เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันประเภทหนึ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อระดมทุนการศึกษาให้กับนักเรียนหรือนักศึกษาโดยตรง หากเราลองเปรียบเทียบกับสินเชื่อในประเทศไทย สินเชื่อประเภทนี้ก็จะมีส่วนที่คล้ายคลึงกับกองทุนการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั่นเอง เพียงแต่มีข้อแตกต่างตรงที่ว่า ถ้าเป็น กยศ. ทุนที่นำมาให้นักเรียนกู้ยืมจะมาจากกระทรวงการคลัง แต่แพลตฟอร์ม P2P นั้นเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเป็นผู้ลงทุนต่อยอดความฝันของนักเรียนหรือนักศึกษาได้ด้วย


แพลตฟอร์ม P2P ที่มีสินเชื่อเพื่อการศึกษาในต่างประเทศนั้นมีอยู่มากมาย เช่น Lendwise Bondora Splendit และ SoFi เป็นต้น ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็จะมีเงื่อนไขสำหรับนักเรียนหรือนักศึกษาที่แตกต่างกันไป วันนี้เราขอยกตัวอย่างสินเชื่อบนแพลตฟอร์ม SoFi ให้ดูกัน


สินเชื่อบนแพลตฟอร์ม SoFi นั้นน่าสนใจและแตกต่างจากที่อื่นตรงที่ไม่มีค่าธรรมเนียมสำหรับนักเรียน นักศึกษาที่มาขอกู้แม้แต่บาทเดียว! โดย ที่ SoFi สามารถทำแบบนี้ได้นั้นเป็นเพราะทางแพลตฟอร์มนำสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้วมาขายต่อให้กับนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก โดยเก็บค่าธรรมเนียมจากนักลงทุนเหล่านั้นแทน ซึ่งนั่นหมายความว่านักลงทุนสถาบันต่าง ๆ ต้องมีความมั่นใจในสินเชื่อของ SoFi มาก ๆ เลยทีเดียว โดยดอกเบี้ยสำหรับกู้ยืมเพื่อการศึกษาในระดับ ป. ตรี จะอยู่ที่ประมาณ 4.98% – 11.71% ต่อปี นอกจากนี้ SoFi ยังมีเทคนิคหรือกระบวนการอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ถ้านักเรียนอนุญาตให้ตัดยอดเงินจากบัญชีเพื่อมาชำระหนี้โดยอัตโนมัติ นักเรียนคนนั้นจะได้ลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% และ SoFi ยังมีระบบที่เชื่อมต่อกับโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อที่เมื่อนักเรียนได้รับเงินทุนแล้ว SoFi จะเป็นคนจ่ายค่าเทอมให้กับโรงเรียนโดยตรง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเงินก้อนนี้จะใช้สำหรับการศึกษาจริงๆ


นอกจากนี้ถ้าหากผู้กู้ยังไม่สามารถหางานได้หรือตกงาน SoFi จะ pause การจ่ายเงินคืนและมีเจ้าหน้าที่มาคอยช่วยผู้กู้คนนั้นในการหางานใหม่อีกด้วย อย่างไรก็ตามสินเชื่อประเภทนี้ก็จะไม่ได้ใช้เวลารวดเร็วเหมือนกันสินเชื่อประเภทอื่น ๆ เพราะยังมีข้อมูลที่ต้องตรวจสอบและขั้นตอนที่ต้องดำเนินการอยู่หลายขั้นตอน อย่างของ SoFi นี่ก็ใช้เวลาเฉลี่ย 4 - 6 สัปดาห์เลยทีเดียว


5. สินเชื่อระหว่างเพื่อนหรือคนในครอบครัว (Family & Friends Loan)

เป็นสินเชื่อที่ให้กู้ยืมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนพ้องที่มีความสนิทสนมกัน โดยปกติแล้วหากเรายืมเงินคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่รู้จักก็มักจะทำได้เลยผ่านการพูดคุยตกลงกัน แต่อาจจะไม่กล้าทำสัญญากู้ยืมมาเป็นหลักฐาน ทำให้ในหลาย ๆ ครั้งเมื่อเวลาเกิดกรณีที่ผิดนัดชำระหรือมีการจ่ายเงินคืนล่าช้า การทะเลาะเบาะแว้งและผิดใจกันก็จะเกิดขึ้นมาทำลายความสัมพันธ์ของคนใกล้ตัวของพวกเรา ดังนั้นสินเชื่อประเภทนี้จึงจะมาช่วยทำให้การกู้ยืมระหว่างครอบครัวหรือเพื่อนพ้องนี้มีความเป็นกิจลักษณะและมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยตัวผู้กู้และผู้ให้กู้สามารถตกลงเงื่อนไขการกู้ยืมต่าง ๆ เช่น ยอดเงินต้น ระยะเวลาการกู้ยืม หรืออัตราดอกเบี้ย เป็นต้น และส่งเข้าไปในแพลตฟอร์มเพื่อให้แพลตฟอร์มเป็นคนดูแลเรื่องการโอนเงินและการทวงถามหนี้ให้


สินเชื่อประเภทนี้เราอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชินกันในประเทศไทย เนื่องจากในประเทศไทยนั้นเราอาจจะยังไม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการยืมเงินกันผ่านคนที่เราใกล้ชิด ซึ่งไม่ต้องบอก ทุกคนก็น่าจะรู้ดีว่า ความเสี่ยงจากการให้กู้ยืมแบบนี้ไม่ได้น้อยเลย แต่สำหรับในต่างประเทศเราก็จะสามารถพบเจอสินเชื่อประเภทนี้อยู่ได้ในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองปล่อยเงินกู้ให้กับลูกเพื่อซื้อบ้านหรือตั้งตัวทำธุรกิจ เพื่อให้ลูกรู้จักใช้เงินเป็น โดยที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงิน หรือเป็นการกู้ยืมระหว่างเพื่อนฝูงเพื่อชำระค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ๆ ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่มีสินเชื่อประเภทนี้ก็ ได้แก่ National Family Mortgage (NFL) ที่จะเน้นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก และ LoanKin ที่เปิดกว้างกับสินเชื่อหลากหลายประเภท



6. สินเชื่อเพื่อบรรเทาความยากจน (World Poverty Reduction Loan)

สินเชื่อประเภทนี้ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะบรรเทาความยากจนในประเทศที่ยังไม่พัฒนาทั่วโลก แพลตฟอร์ม P2P Lending ที่มีสินเชื่อประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสังคมที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไร แต่อยากส่งเสริมและช่วยหาเงินทุนสนับสนุนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ที่คนเหล่านั้นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างยากลำบาก

ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า Kiva โดย Kiva จะทำงานร่วมกับสถาบันไมโครไฟแนนซ์ โรงเรียน มูลนิธิ รวมไปอาสาสมัครในกว่า 80 ประเทศ (โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในทวีปแอฟริกา) ที่จะช่วยทำหน้าที่คัดเลือกและส่งคำขอกู้เข้ามาในระบบ โดยที่ผู้กู้สามารถไปเป็นได้ทั้งผู้ประกอบกิจการเล็ก คนธรรมดาทั่วไป หรือแม้กระทั่งนักเรียน นักศึกษา

การระดมทุนของ Kiva ใช้หลักการเดียวกัน crowdfunding คือนักลงทุนสามารถเข้ามาเลือกปล่อยกู้ในคำขอสินเชื่อตามที่ตนเองสนใจ นอกจากนี้ Kiva ยังทำงานร่วมสถาบันไมโครไฟแนนซ์​ (MFIs) หรือสถาบันที่ปล่อยกู้คนรากหญ้าในพื้นที่นั้นๆ เพื่อหาข้อมูล insight ของแต่ละพื้นและคัดเลือกผู้ประกอบการมาเข้าร่วมในระบบสินเชื่อนี้อีกด้วย โดยจากข้อมูลในอดีตคนที่ปล่อยกู้บน Kiva นั้นได้รับเงินคืนประมาณ 97% เลยทีเดียว และที่สำคัญไปกว่านั้น สินเชื่อบน Kiva นั้นไม่มีดอกเบี้ย นับว่าสินเชื่อที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในประเทศนั้นอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการช่วยเหลือสังคมในประเทศยากจน ไม่ใช่ นักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทน



เป็นอย่างไรกันบ้าง? เริ่มสนใจเป็นผู้กู้หรือผู้ให้กู้ของสินเชื่อประเภทไหนกันบ้างหรือยัง? เราจะได้เห็นได้ว่าแพลตฟอร์ม P2P Lending นั้นมีสินเชื่อหลากหลายประเภทมาก ๆ ทั้งที่เราน่าจะคุ้นเคยและที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ความหลากหลายที่เกิดขึ้นมานั้นก็เพื่อตอบสนองความต้องการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้กู้ที่มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งระบบการเงินในปัจจุบันอาจจะยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด และในอีกมุมหนึ่งก็ยังถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนให้กับคนทั่วไปอีกด้วย ความหลากหลายนี่แหละคือเสน่ห์ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของแพลตฟอร์ม P2P Lending ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา


จากบทความที่ผ่าน ๆ มา ทุกคนน่าจะพอเห็นภาพของแพลตฟอร์ม P2P Lending กันมากขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมา หลักการทำงาน รวมไปถึงประเภทของสินเชื่อ ในตอนหน้าเราจะพาทุกคนเจาะลึกลงไปยังการทำงานในเบื้องหลังของแพลตฟอร์ม P2P Lending กันบ้าง ว่าโมเดลการทำธุรกิจและกลไกการจับคู่เงินลงทุนมีทั้งหมดกี่แบบ และแต่ละแบบมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร รอติดตามกันได้เลยในบทความต่อไป


bottom of page